วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559

มรดก: การขอจัดการมรดก

เมื่อบุคคลเสียชีวิตลงและมีทรัพย์มรดกในขณะถึงแก่ความตาย ไม่ว่าจะได้ทำพินัยกรรมไว้หรือไม่ ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียจำเป็นต้องจัดการทรัพย์มรดกนั้นๆ โดยประการแรก ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียต้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเสียก่อน 
            การขอเป็นผู้จัดการมรดกนั้น ต้องยื่นต่อศาลที่ผู้ตายมีภูมิลำเนา หรือศาลที่ทรัพย์มรดกตั้งอยู่ใน กรณีที่ผู้ตายไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย เอกสารและสิ่งที่ต้องรู้ก่อนการยื่นขอจัดการมรดกนั้น อันดับแรกคือ
1) ใครเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง เพื่อตรวจสอบว่าใครเป็นผู้มีสิทธิหรือส่วนได้เสีย
2) ภูมิลำเนาของผู้ตายหรือที่ตั้งทรัพย์มรดก เพื่อตรวจสอบเขตอำนาจศาล
3) เอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น มรณบัตร ความสัมพันธ์ผู้ตายกับผู้ร้อง บัญชีทรัพย์ บัญชีเครือญาติ เป็นต้น
            เมื่อยื่นคำร้องต่อศาล ผู้ร้องต้องเสียค่าคำร้อง ค่าประกาศ และค่าใช้จ่ายส่งหมายไปยังที่ตั้งทรัพย์มรดก ในวันยื่นคำร้องเราจะได้ทราบวันนัดไต่สวนคำร้อง ซึ่งโดยปกติจะมีขึ้นหลังจากวันที่ยื่นคำร้อง 45 วันโดยประมาณ เพื่อที่ศาลจะได้ปิดประกาศให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทราบถึงวันนัดไต่สวน
            วันนัดไต่สวน ผู้ร้องต้องเตรียมพยานและเอกสารต้นฉบับต่างๆมายังศาล ถ้าไม่มีผู้ใดคัดค้าน ศาลจะไต่สวนตามคำร้องที่ผู้ร้องได้ยื่น และจะมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกตามที่ร้องขอนั้นในวันเดียวกัน และหากผู้ร้องต้องการหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด ผู้ร้องต้องรอ 30 วันเพื่อให้พ้นระยะเวลาอุทธรณ์ตามระเบียบ 

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมที่ Korat-Legal Services

วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556

แบบประกันชีวิต

ประกันชีวิต คือการรวมกลุ่มของคนกลุ่มหนึ่งเพื่อเฉลี่ยภัยที่เกิดขึ้น อันเนื่องมาจาก การเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ พิการ ค่ารักษาพยาบาล และการสูญเสียรายได้ยามชรา

ปัจจุบันนี้มีประกันชีวิตให้เลือกมากมายหลายรูปแบบและหลากหลายบริษัท แต่โดยหลักแล้วจะแบ่งออกเป็นประกันชีวิตมี 3 ประเภท คือ
1) ประเภทกลุ่ม: คือการประกันที่ให้ความคุ้มครองกับกลุ่มบุคคลภายใต้กรมธรรม์ฉบับเดียวกัน สัญญาประกันกลุ่มเป็นสัญญาระหว่างบริษัทประกันชีวิตกับบริษัทลูกค้า นิยมในหมู่ผู้ประกอบการเพื่อเป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้างของบริษัท
2) ประเภทอุตสาหกรรม: เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย มีจำนวนเงินเอาประกันต่อกรมธรรม์ต่ำ และไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสุขภาพ
3) ประเภทสามัญ: เป็นประเภทที่ให้ความคุ้มครองและออมทรัพย์ และแบ่งแยกย่อยออกเป็น 4 แบบคือ
แบบชั่วระยะเวลา แบบตลอดชีวิต แบบสะสมทรัพย์ และแบบเงินได้ประจำ

นอกจากสัญญาประกันชีวิตหลักแล้วนั้น ยังมีสัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายสัญญาหลักอีกหลายแบบ เช่น
- สัญญาแนบท้ายประกันอุบัติเหตุ
- สัญญาแนบท้ายประกันสุขภาพ
- สัญญาแนบท้ายการยกเว้นการชำระเบี้ยประกันสำหรับผู้เอาประกัน
- สัญญาแนบท้ายแบบชั่วระยะเวลา
- สัญญาแนบท้ายแบบสะสมทรัพย์

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อที่ ตัวแทนประกันชีวิต
 

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประกันสังคม: สิทธิประโยชน์

ผู้ประกันตนแต่ละมาตรานั้นก็มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์แตกต่างกันออกไปมากน้อยตามแต่ประเภทของผู้ประกันตน หัวข้อนี้จะแสดงถึงสิทธิประโยชน์ในกรณีต่างๆที่ผู้ประกันตนแต่ละมาตราจะได้รับ

หากยังไม่เคยอ่านหัวข้อเกี่ยวกับผู้ประกันตนให้คลิก: ผู้ประกันตนมีกี่ประเภท
หากยังไม่ทราบเรื่องเงินสมทบและสิทธิที่จะได้รับแต่ละมาตราให้คลิก: เงินสมทบและสิทธิประโยชน์

                                     สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาตรา 40 (ภาคสมัครใจ)
สิทธิประโยชน์(ม.33 และ ม.39): กรณีสงเคราะห์บุตร
สิทธิประโยชน์(ม.33 และ ม.39): กรณีคลอดบุตร

สิทธิประโยชน์(ม.33 และ ม.39): กรณีทุพพลภาพ
สิทธิประโยชน์ (ม.33 และ ม.39): กรณีเสียชีวิต

ทีนี้เราก็ทราบแล้วนะคะว่าสิทธิประโยชน์หลักๆที่ผู้ประกันตนแต่ละมาตราจะได้รับนั้นมีอะไรบ้าง

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมที่ Korat-Legal Services

วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประกันสังคม: เงินสมทบและสิทธิประโยชน์

ครั้งที่แล้วได้เขียนไว้แล้วว่าผู้ประกันตนตามระบบประกันสังคมนั้นมีกี่ประเภท หากยังไม่ได้อ่านก็กดลิงค์ดังนี้: ผู้ประกัันตนมีกี่ประเภท

คราวนี้จะมาดูเรื่องเงินสมทบและสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนแต่ละประเภทดังนี้

(1) เงินสมทบ แบ่งเป็น

ผู้ประกันตนมาตรา 33: 

  • ลูกจ้างจ่าย 5% + นายจ้างจ่าย 5% + รัฐบาล 2.5% ของฐานค่าจ้าง 
ผู้ประกันตนมาตรา 39:
  • สมทบเอง 432 บาท/เดือน (คิดจาก 9% ของฐาน 4,800 บาท) 
  • รัฐบาลช่วยสมทบ 120 บาท/เดือน (คิดจาก 2.5% ของฐาน 4,800 บาท)
ผู้ประกันตนมาตรา 40:
  • ชุดสิทธิประโยชน์ที่ 1 จ่าย 100 บาท/เดือน (จ่ายเอง 70 บาท รัฐสนับสนุน 30 บาท)
  • ชุดสิทธิประโยชน์ที่ 2 จ่าย 250 บาท/เดือน (จ่ายเอง 100 บาท รัฐสนับสนุน 50 บาท)
(2) สิทธิประโยชน์ แบ่งเป็น

ผู้ประกันตนมาตรา 33                  ผู้ประกันตนมาตรา 39                        ผู้ประกันตนมาตรา 40
1. เจ็บป่วย/ประสบอันตราย       1. เจ็บป่วย/ประสบอันตราย        1. ชุดที่ 1 ได้ 3 กรณีคือ ทดแทน
2. ทุพพลภาพ                            2. ทุพพลภาพ                                 การขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย +
3. ตาย                                       3. ตาย                                            เงินทดแทนการขาดรายได้
4. คลอดบุตร                             4. คลอดบุตร                                   เมื่อทุพพลภาพ + ค่าทำศพ
5. สงเคราะห์บุตร                      5. สงเคราะห์บุตร                          2. ชุดที่ 2 ได้ 4 กรณี คือ 3 กรณี 
6. ชราภาพ                               6. ชราภาพ                                        บน + เงินบำเหน็จชราภาพ
7. ว่างงาน

ทั้งหมดข้างต้นคือเรื่องเงินสมทบที่ต้องจ่ายและสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับในการเป็นผู้ประกันตน 

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมดูที่ Korat-Legal Services

วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประกันสังคม: ผู้ประกันตน

หลายๆคนคงได้ยินคำถามเวลาเขาถามว่าเป็นผู้ประกันตนแบบมาตรา 33 หรือ มาตรา 39 หรือ 40 แต่สงสัยว่ามันคืออะไรกัน และต่างกันอย่างไร วันนี้เลยเอามาเขียนเป็นหัวข้อว่า "ผู้ประกันตนมีกี่ประเภท"

ผู้ประกันตนตามกฎหมายเกี่ยวกับการประกันสังคมนั้น แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. ผู้ประกันตนมาตรา 33 (ภาคบังคับ) เป็นผู้ประกันตนประเภท "พนักงานเอกชนทั่วไป" คือเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ และมีคุณสมบัติคืออายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีและไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์

2. ผู้ประกันตนมาตรา 39 (ภาคสมัครใจ) เป็นผู้ประกันตนประเภท "เคยเป็นพนักงานแต่ลาออกมาแล้ว" หมายความว่าเคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 (ภาคบังคับ) และได้ส่งเงินสมทบมาแล้วมากกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกินกว่า 6 เดือน แล้วยื่นคำขอเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ

3. ผู้ประกันตนมาตรา 40 (ภาคสมัครใจ) เป็นผู้ประกันตนประเภท "ประกอบอาชีพอิสระ/แรงงานนอกระบบ" หมายความว่ามิใช่เป็นบุคคลผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ 39 การเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 นี้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ณ วันรับสมัคร

คราวหน้าจะมาบอกถึงเรื่องเงินสมทบและสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนแต่ละประเภท


สนใจข้อมูลเพิ่มเติมดูที่ Korat-Legal Services

วันอังคารที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2556

หนังสือเดินทาง

"Everyone can fly" ขอหยิบยืมสโลแกนของสายการบินแอร์เอเชียมาใช้นะคะ เพราะทุกวันนี้การเดินทางไปต่างประเทศนั้นไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะคนกระเป๋าตุงอีกต่อไป แน่นอนว่าการเดินทางออกนอกประเทศสิ่งสำคัญที่สุดคือ "หนังสือเดินทาง" มีเงินก็ออกนอกประเทศไม่ได้ถ้าไม่มีหนังสือเดินทางหรือเราเรียกกันอย่างติดว่า "พาสปอร์ต" การทำหนังสือเดินทางนั้นก็ไม่ได้ยากเย็นแสนเข็ญอย่างที่คิดอีกเหมือนกัน คือ
บุคคลบรรลุนิติภาวะ - ใช้แค่บัตรประชาชนตัวจริง (ยกเว้นมีการแก้ไขชื่อ ชื่อสกุล ฯลฯ)
ผู้เยาว์ แบ่งเป็นสองช่วง
อายุ 15-20 ปี             - บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง
                                  - บิดาและมารดาต้องมาลงนามทั้งสองคน
อายุแรกเกิด - 14 ปี    - สูติบัตร ฉบับจริง (หากมีบัตรประชาชนแล้วต้องแสดงบัตรตัวจริง)
                                  - บิดาและมารดาต้องลงนามทั้งสองคน

สำหรับคนไทยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศและมีสัญชาติประเทศนั้นๆ หรือว่าผู้เยาว์ที่มีสองสัญชาติแล้วนั้น ก็สามารถขอหนังสือเดินทางไทยได้หากยังไม่ได้สละสัญชาติไทยโดยใช้เอกสารตามข้างต้นนั่นแหละ
ส่วนคำถามที่พบบ่อยๆคือว่า ชื่อกับนามสกุลภาษาอังกฤษในหนังสือเดินทางกับบัตรประชาชนไม่เหมือนกันมีปัญหาไหม ตอบโดยอ้างอิงจากกรมการกงสุลว่า "ไม่จำเป็นต้องสะกดให้ตรงกับบัตรประชาชน แต่ผู้ร้องต้องยืนยันตัวสะกดชื่อ-สกุลภาษาอังกฤษให้ถูกต้องชัดเจน"
และหากเด็กที่มีบิดาหรือมารดาเป็นคนต่างชาติและอาศัยอยู่ต่างประเทศแล้วนั้น บิดาหรือมารดาจะต้องทำหนังสือยินยอมผ่านสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศ พร้อมสำเนาบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง ซึ่งได้รับการรับรองสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ ฯ มาแสดงประกอบคำขอ
และคำถามยอดฮิตอีกข้อคือ ทำอย่างไรหากจะทำหนังสือเดินทางสำหรับเด็กที่บิดามารดาแยกทางกัน คำตอบต้องแยกเป็นสองกรณีนะคะคือ
1. หากบิดามารดาจดทะเบียนสมรสกัน แล้วแยกทางกัน ทั้งบิดาและมารดาต้องลงนามทั้งสองคน
2. หากบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แล้วแยกทางกัน
- ถ้าเด็กอยู่กับบิดา บิดาต้องร้องขอต่อศาลเพื่อขออำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว แล้วบิดาจึงสามารถลงนามให้ความยินยอมแต่ฝ่ายเดียวได้
- ถ้าเด็กอยู่กับมารดา มารดาสามารถติดต่ออำเภอเพื่อทำหนังสือปกครองบุตร (ป.ค.14) แต่เพียงผู้เดียว แล้วมารดาจึงสามารถลงนามให้ความยินยอม ฯ แต่ฝ่ายเดียวได้

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมดูที่ Korat-Legal Services

วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การขออนุญาตทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์

             ชีวิตบางครั้งก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดเส้นทาง ขึ้นบ้างลงบ้างเป็นเรื่องธรรมดา ยามมีเราก็เก็บบ้างหรือซื้อทรัพย์สินให้บุตรบ้าง แต่พอวันหนึ่งอนาคตที่ไม่แน่นอนเข้ามาก็ทำให้สะดุดและเจออุปสรรคที่ต้องใช้เงินในการเลี้ยงดูครอบครัว แต่ว่าปัญหาอยู่ตรงที่ว่าเมื่อเราซื้อทรัพย์สินใดใส่ชื่อบุตรที่ยังเป็นผู้เยาว์อยู่ ครั้นเราจะขายหรือเอาไปทำนิติกรรมใดๆ ก็ไม่สามารถดำเนินการเองได้ทันที ผู้ใช้อำนาจปกครองจำต้องขอให้ศาลอนุญาตเสียก่อน ซึ่งจะเป็นไปตามหลักป.พ.พ. มาตรา 1574
             ดังเช่นคดีนี้ที่เราหยิบยกขึ้นมาเล่าสู่กันฟัง เรื่องมีอยู่ว่า ปู่กับย่าซื้อบ้านพร้อมที่ดินและอยากให้หลาน ตอนซื้อขายก็ใส่ชื่อมารดาของหลานและทำเรื่องจากมารดายกให้บุตร ต่อมาปรากฎว่าสามีหรือว่าพ่อของบุตรเกิดเสียชีวิตกะทันหัน มารดาก็ไม่ได้ทำงาน ญาติพี่น้องก็อยู่ไกลหยิบยืมใครก็เกรงว่าจะไม่มีปัญญาใช้คืน จึงเกิดความคิดว่าต้องการขายทรัพย์สินผู้เยาว์
             ทางปฏิบัติทนายความก็สอบข้อเท็จจริงและดำเนินการยื่นเป็นคำร้องขออนุญาตขายทรัพย์สินผู้เยาว์ต่อศาลเยาวชนและครอบครัว เสียค่าคำร้อง ค่าปิดประกาศตามระเบียบของศาล แต่ก็จะบอกลูกความอยู่เสมอว่าทนายความทำคดีอย่างเต็มที่และสุดความสามารถอยู่แล้ว แต่อย่าคาดหวังผลว่าศาลจะอนุญาตตลอด เพราะศาลท่านจะพิจารณาถึงความจำเป็นของผู้เยาว์ไม่ใช่ว่าแม่ไปก่อหนี้แล้วอยู่ดีๆจะมาขอขายทรัพย์สินลูกเอาไปใช้หนี้ก็ไม่ใช่เรื่อง ก่อนวันนัดไต่สวน ตัวผู้ร้อง บุตรต้องไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่สถานพินิจ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ทำรายงานเพื่อประกอบการพิจารณาไต่สวนคำร้องต่อศาล พอถึงวันนัดไต่สวน ผู้ร้องก็เบิกความตามที่ได้เตรียมตัวมาและอธิบายให้ศาลฟังถึงเหตุจำเป็นจริงๆ และทนายก็มีใบราคาประเมินทรัพย์สินและราคาตลาดที่น่าจะขายได้ต่อศาลเพื่อพิจารณา พอศาลพิจารณาแล้วก็มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องขายทรัพย์สินได้ แต่มีข้อกำหนดไว้ในคำสั่งว่าให้ขายทรัพย์สินได้ในราคาไม่ตำ่กว่า เท่านั้นเท่านี้ และกำหนดการขายได้ระยะเวลาเท่านั้นเท่านี้ และได้ส่งคำสั่งนั้นไปยังสถานพินิจเพื่อกำกับการขายทรัพย์สินอีกครั้ง เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้เยาว์โดยแท้จริง
           แต่ศาลไม่จำเป็นต้องให้ทุกกรณีหรอกนะ ขึ้นอยู่กับว่ามีเหตุและความจำเป็นขนาดไหนอย่างไรบ้าง ซึ่งต้องพิจารณาเป็นคดีๆไป

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมดูที่ www.korat-legal.com