วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การขออนุญาตทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์

             ชีวิตบางครั้งก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดเส้นทาง ขึ้นบ้างลงบ้างเป็นเรื่องธรรมดา ยามมีเราก็เก็บบ้างหรือซื้อทรัพย์สินให้บุตรบ้าง แต่พอวันหนึ่งอนาคตที่ไม่แน่นอนเข้ามาก็ทำให้สะดุดและเจออุปสรรคที่ต้องใช้เงินในการเลี้ยงดูครอบครัว แต่ว่าปัญหาอยู่ตรงที่ว่าเมื่อเราซื้อทรัพย์สินใดใส่ชื่อบุตรที่ยังเป็นผู้เยาว์อยู่ ครั้นเราจะขายหรือเอาไปทำนิติกรรมใดๆ ก็ไม่สามารถดำเนินการเองได้ทันที ผู้ใช้อำนาจปกครองจำต้องขอให้ศาลอนุญาตเสียก่อน ซึ่งจะเป็นไปตามหลักป.พ.พ. มาตรา 1574
             ดังเช่นคดีนี้ที่เราหยิบยกขึ้นมาเล่าสู่กันฟัง เรื่องมีอยู่ว่า ปู่กับย่าซื้อบ้านพร้อมที่ดินและอยากให้หลาน ตอนซื้อขายก็ใส่ชื่อมารดาของหลานและทำเรื่องจากมารดายกให้บุตร ต่อมาปรากฎว่าสามีหรือว่าพ่อของบุตรเกิดเสียชีวิตกะทันหัน มารดาก็ไม่ได้ทำงาน ญาติพี่น้องก็อยู่ไกลหยิบยืมใครก็เกรงว่าจะไม่มีปัญญาใช้คืน จึงเกิดความคิดว่าต้องการขายทรัพย์สินผู้เยาว์
             ทางปฏิบัติทนายความก็สอบข้อเท็จจริงและดำเนินการยื่นเป็นคำร้องขออนุญาตขายทรัพย์สินผู้เยาว์ต่อศาลเยาวชนและครอบครัว เสียค่าคำร้อง ค่าปิดประกาศตามระเบียบของศาล แต่ก็จะบอกลูกความอยู่เสมอว่าทนายความทำคดีอย่างเต็มที่และสุดความสามารถอยู่แล้ว แต่อย่าคาดหวังผลว่าศาลจะอนุญาตตลอด เพราะศาลท่านจะพิจารณาถึงความจำเป็นของผู้เยาว์ไม่ใช่ว่าแม่ไปก่อหนี้แล้วอยู่ดีๆจะมาขอขายทรัพย์สินลูกเอาไปใช้หนี้ก็ไม่ใช่เรื่อง ก่อนวันนัดไต่สวน ตัวผู้ร้อง บุตรต้องไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่สถานพินิจ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ทำรายงานเพื่อประกอบการพิจารณาไต่สวนคำร้องต่อศาล พอถึงวันนัดไต่สวน ผู้ร้องก็เบิกความตามที่ได้เตรียมตัวมาและอธิบายให้ศาลฟังถึงเหตุจำเป็นจริงๆ และทนายก็มีใบราคาประเมินทรัพย์สินและราคาตลาดที่น่าจะขายได้ต่อศาลเพื่อพิจารณา พอศาลพิจารณาแล้วก็มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องขายทรัพย์สินได้ แต่มีข้อกำหนดไว้ในคำสั่งว่าให้ขายทรัพย์สินได้ในราคาไม่ตำ่กว่า เท่านั้นเท่านี้ และกำหนดการขายได้ระยะเวลาเท่านั้นเท่านี้ และได้ส่งคำสั่งนั้นไปยังสถานพินิจเพื่อกำกับการขายทรัพย์สินอีกครั้ง เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้เยาว์โดยแท้จริง
           แต่ศาลไม่จำเป็นต้องให้ทุกกรณีหรอกนะ ขึ้นอยู่กับว่ามีเหตุและความจำเป็นขนาดไหนอย่างไรบ้าง ซึ่งต้องพิจารณาเป็นคดีๆไป

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมดูที่ www.korat-legal.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น